ร้อนใน หรือโรคแผลเปื่อยในช่องปาก มีสาเหตุจากอะไร จะรักษาและป้องกันอย่างไร
| By joy
ร้อนใน เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยจะมีอาการคือมีแผลเปื่อยในช่องปาก ส่วนความเจ็บจะขึ้นอยู่กับขนาดของแผล ซึ่งอาจจะเป็น ๆ หาย ๆ แม้ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ก็สร้างความรำคาญในการใช้ชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นปากตามมาได้อีกด้วย
ร้อนใน คืออะไร
ร้อนในหรือแผลแอฟทัส คือโรคจากการมีแผลเปื่อยในช่องปาก อาจเกิดบริเวณส่วนใดก็ได้ อาจมีเพียงแผลเดียวหรือหลายแผล อาจมีแผลเล็กขนาดไม่ถึงเซนติเมตร หรืออาจมีแผลใหญ่ขนาดหลายเซนติเมตรก็ได้
เป็นโรคที่พบได้ ตั้งแต่ในเด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่มักจะพบบ่อย ในช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยหนุ่มสาว โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยโรคร้อนในจะพบได้บ่อย และมักเป็น ๆ หาย ๆ อยู่เป็นประจำ ส่วนความเจ็บจะขึ้นอยู่กับขนาดของแผล และความรุนแรงของโรค
โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แต่จะสร้างความรำคาญต่อผู้ป่วย รวมทั้งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นปากตามมาด้วย
ผู้เป็นแผลร้อนใน จะไม่มีอาการไข้ ไม่อ่อนเพลีย ไม่มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต และไม่มีความผิดปกตินอกช่องปาก แต่ถ้ามีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ เพิ่มเติม
ทั้งนี้ ผู้ที่มีแผลร้อนใน ขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร หรือเป็นรุนแรง หรือเป็นเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด เพราะอาจเป็นแผลร้อนในร่วมกับการติดเชื้อ HIV หรือมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ หรืออาจเป็นอาการของโรคมะเร็งช่องปากระยะแรก
อาการของร้อนในเป็นอย่างไร
อาการสำคัญคือ มีแผลเปื่อย และเจ็บในช่องปาก แบบเป็น ๆ หาย ๆ อยู่เป็นประจำ เมื่อมีสิ่งที่มากระตุ้น เช่น ความเครียด กัดปากตัวเอง หรืออาจเป็นขึ้นมา โดยไม่มีอะไรเป็นสิ่งกระตุ้นก็ได้
แรกเริ่ม จะรู้สึกเจ็บตรงตำแหน่งที่จะเกิดแผล ตามมาด้วยมีรอยแดงกลม หลังจากนั้นจึงเกิดแผลเปื่อยขึ้นตรงรอยแดง โดยจะเจ็บแผลมาก ในช่วง 2-3 วันแรก และจะรู้สึกปวดแสบมากขึ้น เวลากินอาหารที่มีรสเผ็ดหรือรสเปรี้ยวจัด อาจเจ็บมากจนกลืนหรือพูดจาได้ไม่ถนัด
ลักษณะของแผลร้อนใน
1 แผลร้อนในขนาดเล็ก
เป็นแผลร้อนในที่พบได้บ่อยที่สุด มีลักษณะเป็นแผลตื้น กลม หรือเป็นรูปไข่ มีขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร พื้นแผลจะเป็นสีขาวหรือเหลือง มักเป็นแผลเรียบ ไม่นูน แต่ขอบอาจจะบวมเล็กน้อย
แผลร้อนในเล็กมักขึ้นบริเวณ ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น เพดานอ่อน ลิ้นไก่ ผนังคอหอย พื้นปาก โดยอาจเป็นเพียงแผลเดียว หรือเป็นหลายแผลพร้อมกัน และแผลมักจะหายไปได้เองภายใน 7-14 วัน แต่อาจเป็นซ้ำได้ทุก 1-4 เดือน แต่ไม่ก่อให้เกิดแผลเป็น
2 แผลร้อนในขนาดใหญ่
พบได้ประมาณ 15% ของแผลร้อนในทั้งหมด และจะพบได้บ่อยในผู้ใหญ่ที่เลยช่วงวัยรุ่นไปแล้ว โดยแผลจะมีขนาดใหญ่มากกว่า 1 เซนติเมตรขึ้นไป และมักเป็นแผลลึก ขอบแผลบวม รวมทั้งมีอาการเจ็บปวดรุนแรงกว่าแผลร้อนในเล็ก
แผลร้อนในใหญ่จะพบได้ ในตำแหน่งเดียวกับแผลร้อนในเล็ก และยังพบได้ที่เพดานแข็ง และลิ้นด้านบนด้วย แผลมักจะหายช้า ประมาณ 10-40 วัน และเมื่อหายแล้ว อาจจะเป็นแผลเป็น รวมทั้งกำเริบซ้ำได้บ่อยมาก
ถ้าแผลร้อนไม่ดีขึ้นภายใน 14 วัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสอบว่าเป็นแผลมะเร็งหรือไม่
3 แผลร้อนในชนิดคล้ายเริม
เป็นแผลที่มีความรุนแรง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเริม พบผู้ป่วยเป็นแผลร้อนในชนิดนี้ 5-10% โดยพบได้ในวัยผู้ใหญ่ หรือในกลุ่มคนที่มีอายุมาก และพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ในช่วงแรกแผลจะขึ้นเป็นตุ่มใส มีขนาดเล็ก ๆ แต่มีหลายตุ่ม แล้วตุ่มจะแตก จนรวมเป็นแผลเดียวขนาดใหญ่ คล้ายกับแผลร้อนในใหญ่ แต่จะเจ็บปวดค่อนข้างรุนแรง
โดยสามารถหายได้เอง แต่จะใช้เวลานานมาก ๆ อาจตั้งแต่ 10 วัน ไปจนถึง 2 เดือน หากเป็นแล้ว จะต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ และไม่ก่อให้เกิดแผลเป็น
สาเหตุของร้อนใน เกิดจากอะไร
ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคนี้อย่างแน่ชัด คาดว่าเกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน และอาจมีสาเหตุจากพันธุกรรม เพราะพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้บ่อย ๆ 30-40% จะมีประวัติคนในครอบครัว ที่ป่วยเป็นโรคนี้ด้วย
แผลร้อนในส่วนใหญ่จะเกิดอาการขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องมีสิ่งมากระตุ้น แต่ในส่วนน้อยก็พบว่า มีสิ่งกระตุ้นให้อาการกำเริบขึ้นมาได้ ได้แก่
- มีความเครียด หรือมีความกังวล
- มีความเหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนดึก นอนน้อย
- เยื่อบุปากหรือลิ้น ถูกกัดขณะเคี้ยวอาหาร
- ถูกแปรงสีฟัน ฟันปลอม หรืออาหารแข็ง ๆ เข้าไปกระแทกในช่องปาก
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยารักษาโรคกระดูกพรุน
- การกินของทอด ของมัน เนื้อติดมัน เหล้า เบียร์ ขนมปังเบเกอรี่ ของหวาน ไอศกรีม ผลไม้ที่มีรสหวานมาก ๆ
- การกินอาหารที่มีรสจัดมากเกินไป เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด
- การแพ้อาหารบางอย่าง เช่น นมวัว เนยแข็ง กาแฟ โคล่า ช็อกโกแลต แป้งข้าวสาลี ของเผ็ด ผลไม้จำพวกส้ม
- การแพ้น้ำยาบ้วนปาก หรือแพ้สารบางอย่างในยาสีฟัน
- มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ หรือมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
- มีการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น Helicobacter pylori หรือมีการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรคเริม
- ร่างกายขาดวิตามินและเกลือแร่บางชนิด เช่น ขาดธาตุเหล็ก สังกะสี กรดโฟลิก วิตามินบี วิตามินบี 12
- การมีประจำเดือนของผู้หญิง
- การเลิกบุหรี่
วิธีรักษาแผลร้อนในให้หาย
เพราะไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด จึงมีการรักษาร้อนในตามอาการที่เป็น ดังนี้
- บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ โดยผสมเกลือ 1 ช้อนชา ในน้ำ 1 แก้ว และบ้วนวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อช่วยรักษาแผล ช่วยลดแบคทีเรียในช่องปาก และช่วยทำให้ปากสะอาด
- หากมีอาการปวดแผล ให้ดื่มน้ำเย็น ๆ หรืออมน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ แต่ถ้าปวดมาก ให้กินยาพาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการ
- หากต้องการให้แผลหายเร็ว ให้ป้ายแผลด้วยยา วันละ 2-4 ครั้ง จนกว่าแผลจะหาย
- ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว และกินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะนม ถั่ว ไข่ ตับ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา และอาหารทะเล
- หลีกเลี่ยงการกินอาหาร ที่ก่อให้เกิดการระคายแผล เช่น อาหารแข็ง อาหารทอด อาหารเผ็ด อาหารรสจัด เครื่องดื่มร้อน และผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น มะนาว ส้ม
- ควรกินอาหารเย็น ๆ เช่น ไอศกรีม หรือดื่มน้ำเย็น เพื่อช่วยทำให้ช่องปากชุ่มชื่นมากขึ้น
- รักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี และหยุดใช้น้ำยาบ้วนปากชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรค แพร่กระจายไปทั่วปาก หรือเข้าไปในแผล
ขอบคุณข้อมูลจาก medthai.com
ติดตามข่าวสารอื่น ๆ ได้ที่ Girl Variety ชุมชนสำหรับผู้หญิง