Girl Variety

ชุมชนสำหรับผู้หญิง

ดิจิทัลดีท็อกซ์ ลองห่างจากการใช้โซเชียลมีเดียในชีวิตสักระยะ ฟื้นฟูร่างกาย-จิตใจ

| By

ดิจิทัลดีท็อกซ์

ดิจิทัลดีท็อกซ์ เป็นการช่วยบำบัดผู้เสพติด ในการใช้โซเชียลมีเดีย หรือชอบท่องโลกอินเตอร์เน็ต เพื่อให้เอาตัวเองออกมาจากหน้าจอ และลดการใช้โซเชียลสักระยะ เพราะในยุคสมัยนี้ ที่โลกอินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาท และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น

หลายคนก็มีแนวโน้ม ที่จะใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้นเช่นกัน ทั้งในการทำงาน และในการใช้ชีวิตส่วนตัว เช่น เล่น Facebook,  Instagram และ Twitter หรือชมวิดิโอจาก Youtube และยังอ่านความคิดเห็นของผู้คน ผ่านเว็บไซต์ Pantip จนทำให้เกิดการเสพติดโซเชียล และอินเตอร์เน็ตได้

โดยเห็นได้จากพฤติกรรมที่หลายคนนิยมทำ ในเวลาที่ว่าง ระหว่างการพัก ระหว่างการกินอาหาร หรือระหว่างการเดินทาง เกือบทุกคนต่างหยิบสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตขึ้นมา และใช้เวลาก้มหน้าก้มตาอยู่กับหน้าจอเหล่านั้น

มีข้อมูลว่าคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตต่อวัน ประมาณ 10 ชั่วโมง 5 นาที และมีแนวโน้มที่จะใช้อินเตอร์เน็ตสูงขึ้นด้วย โดยใช้เวลาใกล้เคียงกัน ทั้งในวันทำงานและในวันหยุด ทั้งนี้ คนไทยใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับสื่อสังคมออนไลน์

ดิจิทัลดีท็อกซ์ คืออะไร

ดีท็อกซ์หรือ Detox ในความหมายทั่วไปคือ กระบวนการขับสารพิษออกจากร่างกาย ดังนั้น ดิจิทัลดีท็อกซ์หรือ Digital Detox ก็คือการบำบัดอาการเสพติดโซเชียลมีเดีย เสพติดอินเตอร์เน็ต หรือเสพติดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยให้มีการเว้นวรรค พัก หรือหลีกเลี่ยง จากหน้าจอต่าง ๆ เป็นเวลาชั่วคราว เช่น ไม่สนใจโซเชียลมีเดียทุกชนิด เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

การทำดิจิทัลดีท็อกซ์จะช่วยสร้างสมดุลใหม่ให้กับชีวิต ได้ลดเวลาจากหน้าจอมาใช้เวลากับตัวเองมากขึ้น ช่วยลดความเครียดและความกดดัน ช่วยเพิ่มความสัมพันธ์กับผู้อื่น และเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ ทำให้มีเวลาทบทวนตัวเอง และยังทำให้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ช่วยฟื้นฟูสุขภาพกาย และสุขภาพใจให้ดีขึ้น

ข้อเสียของการเสพติดโซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ต

การเสพติดโซเชียลมีเดีย หรือเสพติดการเล่นอินเตอร์เน็ต เป็นระยะเวลานาน ๆ อาจส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของเราได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • การได้รับแสงสีฟ้าจากหน้าจอของ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้ร่างกายของเรา ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน ทำให้อาจนอนหลับไม่สนิทได้
  • การเล่นโซเชียลและอินเตอร์เน็ตนาน ๆ จะกระตุ้นให้ร่างกายมีความตื่นตัวตลอดเวลา จนอาจนอนดึก ตื่นสาย และอ่อนเพลียได้ ส่งผลให้สมรรถภาพในการทำงานแย่ลง และจะอารมณ์เสียได้ง่ายขึ้น
  • อาจอยู่แต่กับโลกโซเชียลและอินเตอร์เน็ต จนไม่ได้ออกไปพบผู้คน หรือออกไปเจอสังคมภายนอก จนทำให้จิตใจ รู้สึกเหงา เศร้า หรือเกิดความกลัวได้
  • อาจเป็นตัวทำลายความสงบในใจ และกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวลได้ เช่น กลัวไม่รู้เรื่องคนอื่น กลัวตกข่าว กลัวตกกระแส เป็นต้น

วิธีการทำดิจิทัลดีท็อกซ์ สามารถทำได้หลายวิธี และปรับให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของแต่ละคนได้

1 ปิดสมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในเวลานอน เพื่อไม่ให้มีการแจ้งเตือนรบกวน จนทำให้นอนหลับไม่สนิท หรือต้องตื่นขึ้นมากลางคัน จนพักผ่อนไม่เพียงพอ

2 วางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไว้ไกล ๆ ตัว เพื่อไม่ให้เห็นอยู่ในสายตา จนรู้สึกอยากหยิบขึ้นมาใช้งาน

3 กำหนดเวลาที่จะไม่ยุ่งกับโซเชียลมีเดีย หรือที่จะไม่ท่องโลกอินเตอร์เน็ต เช่น งดการใช้โซเชียลในระหว่างการทำงาน งดการใช้โซเชียลเป็นเวลา 24 ชั่วโมง

4 เปลี่ยนจากการพักผ่อนด้วยการเข้าใช้งานโซเชียลมีเดีย เป็นไปทำกิจกรรมอย่างอื่น โดยอาจจะอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลงแทน

5 ตัดขาดจากโซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ต แล้วนำตัวเองไปท่องเที่ยว หรือไปพบเจอและพูดคุยกับผู้คนแบบตัวเป็น ๆ แทนการพบเจอผ่านจอ

6 จากเดิมอาจเคยเช็กโทรศัพท์แทบทุก 10 นาที หรือถ้ามีการแจ้งเตือนก็จะหยิบขึ้นมาดูทันที เปลี่ยนเป็นลองลดการหยิบขึ้นมาดู รอให้เวลาห่างกันมากขึ้น และจำนวนการหยิบขึ้นมาดูลดน้อยลงเรื่อย ๆ

7 แม้การท่องโลกอินเตอร์เน็ตหรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก จะช่วยเปิดโลกกว้างได้มากมาย แต่ลองเปลี่ยนตัวเอง จากการก้มหน้ามองจอตลอดเวลา มาสำรวจสิ่งแวดล้อมด้วยสองตาของเราเอง เงยหน้ามอง ท้องฟ้า ภูเขา ชีวิตผู้คน หรือสิ่งที่อยู่รอบตัวแทนบ้าง

8 เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นสิ่งที่มีความรวดเร็ว และมีความฉับไวสูงมาก ทำให้เรารับรู้เรื่องต่าง ๆ และข่าวสารได้เร็วทันใจ แต่ก็อาจทำให้เรารู้สึกเหนื่อยได้ ลองปรับชีวิตให้ช้าลง มารับข่าวสารผ่านการอ่านหนังสือพิมพ์หรือจากทีวีแทน

9 อย่าจำกัดความสุขไว้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในหน้าจอเท่านั้น ลองซึมซับความสุขจากเรื่องราวรอบกาย ที่สามารถจับต้องและสัมผัสได้จริง ๆ ดูบ้าง

10 ถ้าได้เสพข่าวสารจากแหล่งอื่นมาแล้ว หรือได้พบเจอเพื่อนฝูงแบบจริง ๆ แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเช็กสังคมออนไลน์ดูบ้าง

ประโยชน์ของการทำดิจิทัลดีท็อกซ์

1 ช่วยลดความเครียด เพราะการรับข้อมูลข่าวสาร หรือความคิดเห็นต่าง ๆ ที่มากเกินไป และรับอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้เกิดความเครียดได้

2 ช่วยให้ได้มีเวลากับตัวเองมากขึ้น อาจได้ทบทวนตัวเอง นอนพัก ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีดูบ้าง

3 ช่วยให้นอนหลับและพักผ่อนได้เต็มอิ่ม โดยไม่มีเสียงการแจ้งเตือนรบกวน

4 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน มีสมาธิมากขึ้น สามารถจดจ่อ หรือให้ความสนใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้มากขึ้น

5 ช่วยฟื้นฟูสุขภาพกายและใจ บรรเทาการปวดตา ปวดหลัง ปวดคอ ปวดศีรษะ ที่อาจเกิดขึ้นได้ จากการจ้องหน้าจอเป็นระยะเวลานาน

6 ช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์กับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง เมื่อลดการจ้องจอ แล้วหันไปสนใจสื่อสารกับคนรอบข้างจริง ๆ หรือเมื่อไม่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในระหว่างการพูดคุย เพราะจะทำลายบรรยากาศของการสนทนา

จริง ๆ แล้ว เทคโนโลยีมีทั้งด้านบวกและด้านลบ หากใช้มากเกินไปและไม่รักษาความสมดุล ย่อมส่งผลเสียแก่ร่ายกายและจิตใจได้ ลองห่างจากเทคโนโลยีดูสักพัก ไม่จำเป็นจะต้องงดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด แต่แค่ลองเปลี่ยนวิธีการใช้ในชีวิตประจำวัน แค่นี้ก็ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้แล้ว


ขอบคุณข้อมูลจาก thaihealth.or.th

ติดตามข่าวสารอื่น ๆ ได้ที่ Girl Variety ชุมชนสำหรับผู้หญิง