กักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation อีกหนึ่งทางในการรักษาตัว หากติดเชื้อโควิด-19
| By joy
กักตัวที่บ้าน เป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง เพราะจะช่วยลดการติดขัดของระบบ ในการดูแลผู้ป่วยที่มีเป็นจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหนัก และมีความจำเป็นต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ได้มากยิ่งขึ้น
เพราะในขณะนี้ ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก จนทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง ส่งผลให้โรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม มีไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วย ให้ได้เข้ารับการรักษา ทำให้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องรอเตียง และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีเป็นจำนวนมาก จนอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
กักตัวที่บ้าน คืออะไร
การกักตัวที่บ้านหรือ Home Isolation คือการให้ผู้ป่วยโควิด-19 ดูแลตัวเองจากที่บ้าน ผ่านระบบติดตามดูแลอาการ ซึ่งต้องเป็นผู้ป่วย ที่ตรวจพบเชื้อ แต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย เรียกว่า ‘ผู้ป่วยสีเขียว’ หรือต้องเป็นผู้ป่วย ที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล มาแล้วอย่างน้อย 7-10 วัน และแพทย์อนุญาตให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้
กระทรวงสาธารณสุข แบ่งระดับอาการป่วยโควิด-19 เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1 ผู้ป่วยสีเขียว
- ไม่มีอาการ
- วัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียส ขึ้นไป
- ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ
- ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
- ตาแดง ผื่น
- ไม่มีอาการหายใจเร็ว ไม่มีอาการหายใจเหนื่อย ไม่มีอาการหายใจลำบาก
- ไม่มีอาการปอดอักเสบ
- ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง
2 ผู้ป่วยสีเหลือง
- มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง
- แน่นหน้าอก
- หายใจไม่สะดวก หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก
- ไอแล้วเหนื่อย
- อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ
- ปอดอักเสบ
- ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน และมีอาการหน้ามืด วิงเวียน ร่วมด้วย
3 ผู้ป่วยสีแดง
- หอบเหนื่อย
- พูดไม่เป็นประโยค
- แน่นหน้าอกตลอดเวลา
- หายใจแล้วเจ็บหน้าอก
- ซึม เรียกแล้วไม่รู้สึกตัว หรือเรียกแล้วตอบสนองช้า
- ปอดบวม หรือมีภาวะที่ลดลงของออกซิเจน
ผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลุ่มไหน ที่สามารถกักตัวที่บ้านได้
ต้องเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 7-10 วัน โดยจะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
1 ต้องมีอายุน้อยกว่า 70 ปี
2 ต้องพักอาศัยอยู่คนเดียว หรืออยู่ร่วมกับผู้อื่นไม่เกิน 1 คน หรือมีห้องส่วนตัวเป็นสัดส่วน
3 ต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีภาวะอ้วน ไม่เป็นผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดสมอง เบาหวาน โดยจะพิจารณาตามดุลยพินิจของแพทย์
ข้อดีของการกักตัวที่บ้าน สำหรับผู้ป่วยสีเขียว
1 ลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อเพิ่ม
2 แก้ปัญหาคนติดเชื้อโควิด-19 เข้าไม่ถึงการรักษา
อุปกรณ์และสิ่งที่ควรเตรียม หากต้องกักตัวที่บ้าน
1 เทอร์โมมิเตอร์สำหรับวัดไข้
2 เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด แบบหนีบนิ้ว
3 เจลแอลกอฮอล์
4 หน้ากากอนามัย
5 ทิชชูแห้ง และทิชชูเปียก
6 ถุงขยะ สำหรับใส่ขยะติดเชื้อ
7 จาน ชาม ช้อน ส้อม แก้วน้ำ ผ้าขนหนู สำหรับใช้ส่วนตัว แยกกับผู้อื่น
กักตัวที่บ้านต้องทำอย่างไร
- ห้ามออกจากบ้าน และห้ามไม่ให้ผู้ใดมาเยี่ยม
- งดการเข้าใกล้ หรือสัมผัสผู้อื่น
- เปิดหน้าต่าง เพื่อให้อากาศถ่ายเท ลดการสะสมของเชื้อโรค
- ทำความสะอาดมือบ่อย ๆ
- แยกห้องพัก แยกของใช้ส่วนตัว
- กินอาหารในห้องของตนเอง งดการกินอาหารร่วมกับผู้อื่น
- แยกใช้ห้องน้ำ แต่หากเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย และล้างทำความสะอาดทุกครั้งที่ใช้เสร็จ
- แยกขยะติดเชื้อก่อนทิ้ง
- แยกซักเสื้อผ้า
- ดื่มน้ำ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- ทำความสะอาดสิ่งของ ที่มีการสัมผัสทุกครั้ง เช่น ลูกบิดประตู หรือสวิตช์ไฟ
ข้อควรระวังในการกักตัวที่บ้าน
ในการกักตัวที่บ้านนั้น ผู้ป่วยต้องหมั่นสังเกตอาการของตัวเอง รวมทั้งวัดอุณหภูมิ และวัดออกซิเจนในเลือดทุกวัน หากรู้สึกว่ามีอาการแย่ลง เช่น มีไข้สูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ท้องเสีย และอาเจียน จนกินอาหารไม่ได้ หายใจไม่สะดวก พูดเป็นประโยคยาว ๆ ไม่ได้ แน่นหน้าอกจนนอนราบไม่ได้ หรือมีอาการซึมลง ให้รีบติดต่อโรงพยาบาล โดยเร็วที่สุด
วิธีการลงทะเบียนติดตามอาการ กรณีกักตัวที่บ้าน
- กรณีใช้สิทธิ์บัตรทอง ลงทะเบียนผ่านสายด่วน สปสช. 1330 กด 14
- กรณีใช้สิทธิ์ประกันสังคม โทร 1506 กด 6
- กรณีต้องการกลับภูมิลำเนาเพื่อรักษาตัว โทร 1330 กด 15
ระยะเวลาในการกักตัวที่บ้าน จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ และหลังจากหายป่วยแล้ว ก็ยังต้องระมัดระวังตัวเองอย่างเคร่งครัด เพื่อลดการติดเชื้อซ้ำ โดยยังคงต้องสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมือเป็นประจำ ทั้งนี้ หากยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ควรเว้นระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ ก่อนจะเข้ารับการฉีดวัคซีน
ขอบคุณข้อมูลจาก thaihealth.or.th
ติดตามข่าวสารอื่น ๆ ได้ที่ Girl Variety ชุมชนสำหรับผู้หญิง