กระท่อม ถูกปลดจากยาเสพติด ซื้อขายได้ ใช้อย่างไรจึงจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
| By joy
กระท่อม ได้รับการปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติด หลังจากมีสถานะเป็นยาเสพติดใน พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ มานานถึง 41 ปี โดยก่อนหน้านี้ พืชกระท่อมถือเป็นหนึ่งในพืช 4 ชนิด ที่อยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ร่วมกับ กัญชา ฝิ่น และเห็ดขี้ควาย
ประเทศไทยได้ออกกฎหมายควบคุมการปลูก เสพ ซื้อ ขาย และครอบครองพืชกระท่อม ครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 8 ตาม พ.ร.บ. พืชกระท่อม พ.ศ. 2486 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า และภาษีของรัฐ เพราะเมื่อฝิ่นที่รัฐเป็นผู้ผลิต มีราคาแพง คนก็เลยหันมาใช้พืชกระท่อมแทน
ต่อมา เมื่อมีการออก พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 พืชกระท่อมก็ถูกควบคุมอย่างต่อเนื่อง ในฐานะยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 จนในปี พ.ศ. 2562 ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ เพื่อปลดล็อกให้มีการใช้กัญชา และพืชกระท่อม ในทางการแพทย์
ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2654 เป็นต้นไป ประชาชนสามารถปลูก บริโภค หรือซื้อขายพืชกระท่อม ได้อย่างเสรี ซึ่งพืชกระท่อม ถือเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีคุณประโยชน์อย่างมาก Girl Variety จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพืชชนิดนี้ มาแนะนำให้สาว ๆ ได้รู้จัก เผื่อสาว ๆ คนไหน อยากจะลองใช้ประโยชน์ จากพืชกระท่อมกันดูบ้าง
กระท่อม มีความเป็นมา และมีประโยชน์ยังไง
กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ซึ่งถูกชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้เป็นยาสามัญประจำบ้าน มานานหลายร้อยปีแล้ว โดยนิยมเคี้ยวใบสด หรือนำใบมาต้มเป็นชา เพื่อเป็นตัวช่วยให้ทำงานได้ โดยไม่เหนื่อยล้า
สำหรับประเทศไทย จะพบพืชกระท่อมได้ บริเวณทางใต้ของประเทศไทย โดยจะพบมากในป่าธรรมชาติ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส และยังพบได้ในบางจังหวัดของภาคกลาง เช่น ปทุมธานี
กระท่อมที่พบในประเทศไทย มีอยู่ 3 พันธุ์ คือ แตงกวา ยักษาใหญ่ และก้านแดง โดยจะมีชื่อเรียกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ เรียกอีด่าง อีแดง หรือกระอ่วม ขณะที่ภาคใต้ เรียกท่อม หรือท่ม เป็นต้น
ซึ่งชาวไทยมีการนำกระท่อม มาใช้เป็นยาแก้โรคบิด ปวดมวนท้อง และท้องเสีย อีกทั้งบางคนยังมีความเชื่อว่า พืชกระท่อมสามารถบรรเทาโรคเบาหวานได้ด้วย
ขณะที่ชาวมลายูเรียกพืชกระท่อมว่า คูทุม คีทุมเบีย หรือเบียก โดยชาวมลายูใช้ใบกระท่อม มาตำแล้วพอกแผล หรือเผาใบกระท่อมให้ร้อน แล้ววางบนท้อง เพื่อรักษาโรคม้ามโต
กระท่อมมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร
- ช่วยรักษาอาการไอ
- ช่วยรักษาอาการปวดฟัน
- ช่วยรักษาอาการท้องเสีย และท้องร่วง
- ช่วยแก้ปวดเมื่อย
- ช่วยคลายกล้ามเนื้อ
- ช่วยให้มีสมาธิ
- ช่วยระงับประสาท
- ช่วยให้นอนหลับ
- ช่วยให้มีแรงทํางาน และไม่เหนื่อยง่าย
- สามารถใช้บรรเทาอาการปวด แทนการใช้มอร์ฟีน เพราะข้อดีกว่ามอร์ฟีน เช่น ไม่กดระบบทางเดินหายใจ ไม่ทำให้คลื่นไส้และอาเจียน
- สามารถใช้บำบัดผู้ติดยาเสพติด ติดฝิ่น หรือติดมอร์ฟีนได้
ผู้ที่ควรระวัง และควรหลีกเลี่ยง ในการใช้ใบกระท่อม
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ
- ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต
- ผู้ติดสุรา หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
- ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ หากเสพกระท่อมมากเกินไป
- ปากแห้ง
- ท้องผูก
- ปัสสาวะบ่อย
- คลื่นไส้ และอาเจียน
- น้ำหนักลด
- เหงื่อออก
- คัน
- วิตกกังวล กระวนกระวาย หรือสับสน
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- นอนไม่หลับ
- ร่างกายตื่นตัวตลอดเวลา
- เห็นภาพหลอน
- ความอยากอาหารลดลง
ต้องใช้พืชกระท่อมอย่างไร จึงจะถูกกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2564
การปลูก การขาย การนำเข้า หรือส่งออก พืชกระท่อม เพื่อประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม ต้องได้รับใบอนุญาต โดยใบอนุญาตปลูกและขายพืชกระท่อม มีอายุ 5 ปี ส่วนใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกพืชกระท่อม มีอายุ 1 ปี
ผู้ขอรับใบอนุญาตปลูกพืชกระท่อม ต้องเป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย และมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และต้องไม่เป็นผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรืออยู่ระหว่างการถูกพักใช้ใบอนุญาต โดยผู้ได้รับใบอนุญาตปลูกพืชกระท่อม จะต้องปลูกในที่ดินหรือสถานที่ ตามพิกัดที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเท่านั้น
ข้อห้ามเพื่อป้องกันการใช้พืชกระท่อมในทางที่ผิด
1 หากผู้ปลูก ขายพืชกระท่อมเกินปริมาณที่กำหนด หรือนำเข้าและส่งออกพืชกระท่อม โดยไม่มีใบอนุญาต ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2 ห้ามบริโภคใบกระท่อม หรือน้ำต้มใบกระท่อม ผสมกับยาเสพติดให้โทษ ฝ่าฝืนมีโทษปรับ ไม่เกิน 50,000 บาท
3 ห้ามขายใบกระท่อม น้ำต้มใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบ แก่บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตร หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ ไม่เกิน 30,000 บาท แต่หากขายในสถานศึกษา หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนสนุก หรือขายโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ฝ่าฝืนมีโทษปรับ ไม่เกิน 50,000 บาท
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.tnnthailand.com/news/social/88924/
ติดตามข่าวสารอื่น ๆ ได้ที่ Girl Variety ชุมชนสำหรับผู้หญิง